ประวัติความเป็นมา เทศบาลเมืองชะอำ
เดิมชะอำมีชื่อว่า “
ชะอาน ” เล่ากันว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยาครั้งสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ ยกทัพมาทางใต้ ทรงนำทัพมาทางใต้ ทรงนำทัพมาที่เมืองนี้เพื่อไพร่พล ช้าง ม้าและล้างอานม้า จึงได้ชื่อว่า “ ชะอาน ” ต่อมาชื่อนี้จึงเพี้ยนมาเป็น “ ชะอำ ” ชะอำครั้งอดีตเริ่มมีความเจริญทางด้านทางท่องเที่ยว ตั้งแต่ทางรถไฟสายใต้สร้างมาถึงในราวปี 2459 ชายหาดชะอำเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่รู้จักกันมานานแล้ว แต่ในอดีตยังไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร จนกระทั่งปี พ.ศ. 2464 พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ และพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชบริพารในสมัยนั้นได้ออกสำรวจพื้นที่ชายทะเลที่ชะอำ ได้ทรงมาจับจองที่ดินชายทะเลตำบลชะอำ ซึ่งแต่เดิมนั้นเป็นตำบลในเขตการปกครองของอำเภอนายาง
พื้นที่ ชายทะเลชะอำเมื่อสำรวจครั้งแรกยังเป็นป่าอยู่ ส่วนด้านชายทะเลเป็นดงกระบองเพชรป่าหนามเสมาสลับกับต้นมะขามเทศและต้นรัก ชาวบ้านชะอำส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ทำไร่สับปะรด และทำการประมง หมู่บ้านชะอำนั้นตั้งอยู่หลังสถานีรถไฟบ้านชะอำทางทิศตะวันตกของทางรถไฟหมู่ บ้านชายทะเลนี้เป็นเป็นเพียงหมู่บ้านเล็กๆ ที่บ้านปากคลอง และบ้านหนองแจง เมื่อชะอำเริ่มเป็นที่รู้จักว่า เป็นเมืองชายทะเลที่สงบเงียบ ธรรมชาติสวยงาม อีกทั้งมีแหล่งน้ำจืดที่อุดมสมบูรณ์ทำให้มีราษฎรอพยพมาปลูกสร้างบ้าน เรือนอยู่อาศัยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากชุมชนเล็กๆขยายตัวเป็นชุมชนใหญ่มีการรวมตัวจัดตั้งเป็นหมู่บ้าน ให้ชื่อว่าหมู่บ้าน “ สหคาม ” โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าแต่งตั้งพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนราธิปประพันธ์พงษ์เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก
พระบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ได้ทรงวางผังเมืองชะอำ วางผังตัดถนน และมีพระประสงค์เพื่อให้ชะอำเป็นที่พักตากอากาศตามแผนพัฒนาชะอำที่พระองค์ ได้จัดทำขึ้น โดยมีกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี และพระยามโนปกรณ์ฯ ร่วมเป็นที่ปรึกษา แผนพัฒนาชะอำมุ่งที่จะสร้างความเจริญให้ชะอำทั้งด้านสาธารณูปโภคและ สาธารณูปการ พร้อมทั้งการให้บริการด้านการท่องเที่ยวด้วย แบ่งการพัฒนาเป็น 2 ระยะ คือ ระยะแรกและระยะยาว ระยะแรกเป็นการจัดสรรที่ดินชายทะเลด้านทิศตะวันตก สำหรับแผนระยะยาวมุ่งที่จะสร้างความเจริญให้กับบ้านเมืองและจัดตั้งเป็น ชุมชนพักผ่อนตากอากาศการพัฒนาชะอำได้ดำเนินไปตามแนวทางที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ได้วางไว้ระยะหนึ่ง จนต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พระองค์ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญเรื่องการเจริญเติบโตในเขตชุมชนชายทะเลชะอำ อันเป็นสถานที่พักผ่อนตากอากาศ จึงมีพระราชดำริตั้งกรรมการวางแผนพัฒนาบริเวณชายทะเลชะอำ ให้เป็นสถานที่ตากอากาศสมบูรณ์แบบ โดยมีการสร้างสิ่งสาธารณูปโภคต่างๆอาทิเช่น ไฟฟ้า น้ำประปา ถนนหนทาง โรงเรียน ฯลฯ และจึงโปรดเกล้าให้ร่างพระราชบัญญัติการจัดสร้างบำรุงสถานที่ท้องที่ชายทะเล ทิศตะวันตก พุทธศักราช 2469 ขึ้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้พระราชบัญญัติ ฉบับนี้ ในปีพุทธศักราช 2469
สภา จัดบำรุงสถานที่ชายทะเลทิศตะวันตกเป็นนิติบุคคลมีการสำรวจและกำหนดเขตของ สภาฯ คือตั้งแต่หนองตาพดจนถึงเขาเต่า ในขอบเขตกว้างขนานกับทางรถไฟไปทางทิศตะวันตกเป็นระยะทาง 3 กิโลเมตร มีพื้นที่รวมโดยประมาณ 182 ตารางกิโลเมตร และมีหน้าที่ดำเนินการจัดให้มีขึ้นอีกทั้งแก้ไขปรับปรุงบำรุงการคมนาคม การประปา ไฟฟ้า รวมถึงการออกแบบวางแผนผัง หรือกำหนดโครงการสำหรับการพัฒนาเมือง การปลูกสร้างโรงเรียนและการโยธาอื่นๆ ภายในเขตสภาฯ ให้มีพร้อมและให้ดียิ่งขึ้น สภาฯแห่งนี้จึงนับได้ว่าเป็นการปกครองตนเองระบอบเทศบาล เช่น ในปัจจุบัน รายได้ของสภาฯในการปรับปรุงกิจการท้องถิ่น ได้มาจากการเก็บจังกอบจากราษฎรในท้องถิ่นโดยคิดอัตราจากประเภทของที่ดินเป็น เกณฑ์
อนึ่งในการโอนกิจการสภาจัดบำรุงสถาน ที่ชายทะเลทิศตะวันตกให้แก่เทศบาล ได้มีการแบ่งพื้นที่เป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งจัดตั้งเป็นเทศบาลตำบลหัวหินและส่วนหนึ่งจัดตั้งเป็นตำบลชะอำ โดยกำหนดแนวแบ่งเขตเทศบาลตำบลชะอำกับเทศบาลตำบลหัวหิน โดยยึดแนวบริเวณสนามบินบ่อฝ้ายเป็นเส้นแบ่งพื้นที่ส่วนที่แบ่งให้กับเทศบาล ตำบลหัวหิน ประมาณ 72 ตารางกิโลเมตร นับเป็นที่ส่วนที่มีความเจริญมากในสมัยนั้น มีบริการด้านสาธารณูปโภคต่างๆครบถ้วน อาทิ ไฟฟ้า ประปา การรถไฟและโรงเรียน สำหรับพื้นที่ส่วนที่แบ่งให้กับเทศบาลตำบลชะอำ 110 ตารางกิโลเมตร ประกอบไปด้วยพื้นที่ของเทศบาลตำบลชะอำ และตำบลห้วยทรายเหนือ ซึ่งขณะนั้นยังขึ้นอยู่กับอำเภอหนองจอกจังหวัดเพชรบุรี สภาพพื้นที่ทั่วไปเป็นทุ่งนา ทุ่งหญ้าและป่ารกต่างๆ มากมาย มีสถานที่สำคัญที่อยู่ในเขตเทศบาลตำบลชะอำ คือ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน (ปัจจุบันตั้งอยู่บริเวณกองกับการ 1 กองบังคับฝึกพิเศษค่ายพระรามหก)
เทศบาลตำบลชะอำเมื่อแรกตั้งมี นายยัง อ่วมสำอางค์ เป็นนายกเทศมนตรีคนแรก จากชุมชนชายทะเลเล็กๆ สู่การจัดตั้งเป็นหมู่บ้านสหคามในสมัยรัชกาลที่ 6 มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนต่อมามีการออกพระราชบัญญัติ จัดตั้งเป็นสภาจัดบำรุงสถานที่ชายทะเลทิศตะวันตก ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จึงยกฐานะ เป็นเทศบาลตำบลชะอำ ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง เทศบาลตำบลชะอำ พ.ศ. 2480 อยู่ในเขตตำบลชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี และยกฐานะจากเทศบาลตำบลเป็นเทศบาลเมือง ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 13 ก.พ.47
งานที่สภาฯจัดทำขึ้น คือ ถนนสายร่วมจิตต์ตลอดแนวชายทะเล ตั้งแต่บ้านปากคลองถึงบ้านหนองแจง อีกทั้งตัดถนนจากสถานีรถไฟบ้านชะอำ ไปบรรจบกับถนนร่วมจิตต์ ณ สามแยกชายทะเลชะอำปัจจุบัน
หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จนถึงปีพุทธศักราช 2479 รัฐสภาพิจารณาเห็นว่าการดำเนินงานของสภาฯ แห่งนี้คล้ายกับเทศบาล จึงมีมติให้โอนกิจการและทรัพย์สินทั้งหมดของสภาจัดบำรุงสถานที่ชายทะเลทิศ ตะวันตกให้แก่เทศบาล โดยตราเป็นพระราชบัญญัติยกเลิกและโอนกิจการสภาจัดบำรุงสถานที่ชายทะเลทิศ ตะวันตกให้แก่เทศบาล และมีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเทศบาลตำบลชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ในปีพุทธศักราช 2480 เพื่อรองรับสภาฯที่ได้ยกเลิกไป
เทศบาลตำบลชะอำยกฐานะเป็นเทศบาลเมืองชะอำ เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2547
การแบ่งเขตการเลือกตั้ง
การเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลเมืองชะอำแบ่งเขตการเลือกตั้งออกเป็น 3 เขต ดังนี้
เขตการเลือกตั้งที่ 1 ประกอบด้วยชุมชนบ้านใหญ่ชะอำ ชุมชนหัวบ้านชะอำ ชุมชนบ้านพลี ชุมชนตลาดชะอำ ชุมชนบ้านสระ ชุมชนเจ้าพ่อเขาใหญ่
เขตการเลือกตั้งที่ 2 ประกอบด้วยชุมชนบ้านหนองตาพต ชุมชนสหคาม ชุมชนคลองเทียน ชุมชนบ้านปากคลอง ชุมชนทุ่งตะกาดพลี ชุมชนสะพานหิน ชุมชนหนองแจง ชุมชนบ่อแขมด้านเหนือ ชุมชนบ่อแขมด้านใต้ ชุมชนบ่อพุทรา
เขตการเลือกตั้งที่ 3 ประกอบด้วย บ้านบางไทรย้อย ชุมชนเนินสุรา ชุมชนรวมใจพัฒนา ชุมชนบ้านห้วยทรายเหนือ ชุมชนหนองคาง ชุมชนบ้านห้วยทรายใต้ ชุมชนบ้านสามพระยาสันติสุข ชุมชนชัยมงคล ชุมชนห้วยจิก ชุมชนค่ายพระรามหก ชุมชนค่ายนเรศวร
การเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเมืองชะอำให้ถือเอาเขตเทศบาลเมืองชะอำทั้งหมดเป็น 1 เขตเลือกตั้ง