การจดทะเบียนรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
วันจันทร์ที่ 09 มิถุนายน 2014 เวลา 10:34 น.
แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสบดีที่ 12 มิถุนายน 2014 เวลา 11:33 น.
การขึ้นทะเบียนรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
(รับขึ้นทะเบียนทุกเดือนพฤศจิกายนของทุกปี)
ตั้งแต่วันที่ 1- 30 พฤศจิกายน ของทุกปี ในวันและเวลาราชการ
คุณสมบัติของผู้มีสิทธิรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
1. สัญชาติไทย
2. มีอายุ 59 ปีบริบูรณ์ขึ้น (ในกรณีทีทะเบียนราษฎร์ระบุเฉพาะปีเกิด ให้ถือว่าบุคคลนั้นเกิดวันที่ 1 มกราคมของปีนั้น เช่น เกิด พ.ศ. 2497 ให้ถือว่าเกิด วันที่ 1 มกราคม 2497
3. มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตเทศบาลเมืองชะอำ
4. ไม่เป็นผู้ที่ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือเทศบาล อบต. ได้แก่ ผู้รับเงินบำนาญ เบี้ยหวัด บำนาญพิเศษ หรือเงินอื่นใดในลักษณะเดียวกัน ผู้สูงอายุที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ของรัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ที่ได้รับเงินเดือน ค่าตอบแทน รายได้ประจำ หรือผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่รัฐหรือเทศบาล อบต. จัดให้เป็นประจำ ยกเว้นผู้พิการและผู้ป่วยเอดส์ตามระเบียบ
ใช้เอกสารอะไรบ้าง ?
1. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน จำนวน 1 ชุด
2. สำเนาทะเบียนบ้าน จำนวน 1 ชุด
3. สำเนาสมุดบัญชีเงินฝาก(ออมทรัพย์) จำนวน 1 ชุด
ผู้อื่นยื่นเอกสารแทนผู้สูงอายุได้หรือไม่ ?
สามารถยื่นเอกสารแทนผู้สูงอายุได้ และหากผู้สูงอายุมีความประสงค์โอนเงินเข้าบัญชีผู้อื่น ต้องมีหนังสือมอบอำนาจ ตัวจริงพร้อมสำเนาบัตรประชาชนและทะเบียนบ้านของผู้รับมอบอำนาจ อย่างละ 1ชุด
ยื่นเอกสารแล้วจะได้รับเงินเมื่อไหร่ ?
ผู้สูงอายุที่ขึ้นทะเบียนไว้ ตั้งแต่วันที่ 1 - 30 พฤศจิกายน ของทุกปี จะได้รับเงินเบี้ยยังชีพ เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม ของปีถัดไป (ไม่มีการจ่ายย้อนหลัง)
ผู้สูงอายุแต่ละคนจะได้รับเงินเท่าไร ?
ปัจจุบันได้จ่ายแบบขั้นบันได ดังนี้
อายุ 60 - 69 ปี จะได้รับ 600 บาท
อายุ 70 - 79 ปี จะไดัรับ 700 บาท
อายุ 80 - 89 ปี จะได้รับ 800 บาท
อายุ 90 ปีขึ้นไป จะได้รับ 1,000 บาท
หมายเหตุ ในกรณีผู้สูงอายุที่มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุย้ายทะเบียนบ้านให้เทศบาล หรือ อบต. ที่เคยจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเดิมยังคงจ่ายเบี้ยยังชีพ ผู้สูงอายุตนกว่าจะสิ้นสุดปีงบประมาณนั้น คือเดือนกันยายน หากมีความประสงค์จะรับเบี้ยยังชีพกับเทศบาล หรือ อบต. แห่งใหม่ ต้องไปจดทะเบียนเพื่อขอรับเบี้ยยังชีพที่เทศบาลหรือ อบต. แห่งใหม่ ภายใน 1 - 30 พฤศจิกายนของทุกปี และเริ่มรับเงินที่ใหม่ในเดือนตุลาคม ของปีถัดไป
เอกสารต้องลงลายมือชื่อ สำเนาถูกต้องทุกฉบับ ผู้สูงอายุที่ไม่สามารถเขียนได้ ให้พิมพ์ลายมือแทน
การขอรับเงินสงเคราะห์ในการจัดการศพผู้สูงอายุตามประเพณี
การสงเคราะห์ในการจัดการศพผู้สูงอายุ หมายถึง การช่วยเหลือเป็นเงินในการจัดการศพผู้สูงอายุตามประเพณีรายละ 2,000 บาท การสงเคราะห์ในการจัดการศพตามประเพณีนั้น
ผู้สุงอายุที่เสียชีวิตต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
1. มีอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป
2. มีสัญชาติไทย
3. มีชื่ออยู่ในเขตเทศบาลเมืองชะอำ
การยื่นเรื่องขอเงินสงเคราะห์การจัดการศพตามประเพณี
ผู้ยื่นคำขอต้องเป็นบุคคลที่รับผิดชอบในการจัดการศพผู้สูงอายุ โดยต้องยื่นคำขอที่เทศบาลเมืองชะอำ หรือสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเพชรบุรี (ศาลากลางจังหวัดเพชรบุรี) ในวันทำการ
ใช้หลักฐานอะไรบ้างในการยื่นคำขอ ?
1. ใบมรณะบัตรของผู้สูงอายุฉบับจริง พร้อมสำเนา 2 ชุด
2. บัตรประจำตัวประชาชน ผูุุุ้ยื่นคำขอ พร้อมสำเนา 2 ชุด
สำคัญมาก
ผู้ยื่นคำขอรับการสงเคราะห์จัดการศพผู้สูงอายุตามประเพณีต้องยื่นคำขอภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ออกใบมรณะบัตร
ชมรมผู้สูงอายุ เทศบาลเมืองชะอำ
เทศบาลเมืองชะอำ ได้จัดตั้งชมรมผู้สูงอายุ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้มีกิจกรรมรวมกลุ่มของผู้สูงอายุของเทศบาลเมืองชะอำ อันก่อให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุทั้งด้านร่างกาย และจิตใจเพื่อให้ผู้สูงอายุเข้าถึงกิจกรรมของชมรมผู้สูงอายุ จึงขอประชาสัมพันธ์ผู้สูงอายุเพื่อให้ผู้สูงอายุเข้าถึงกิจกรรมของชมรมผู้สูงอายุ รายละเอียดการสมัครดังนี้
คุณสมบัติของผู้สมัครเข้าร่วมชมรมผู้สูงอายุ
1. ผู้สมัครต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป
2. มีชื่ออยู่ในทะเบียนเทศบาลเมืองชะอำ
เอกสารประกอบการรับสมัคร
1. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน จำนวน 1 ฉบับ
2. สำเนาทะเบียนบ้าน จำนวน 1 ฉบับ
3. รูปถ่าย 1 นิ้ว จำนวน 2 รูป
สิทธิประโยชน์ของชมรมผู้สูงอายุเทศบาลเมืองชะอำ
1. การได้รับความสะดวก รวดเร็ว ในการติดต่อกับทางเทศบาลเมืองชะอำแก่ผู้สูงอายุเป็นกรณีพิเศษ
2. การได้รับข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุ
3. การได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ของชมรมผู้สูงอายุเทศบาลเมืองชะอำ
4. การได้รับการยกเว้นค่าเข้าเชมสถานที่ของรัฐ ตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546
5. การได้รับการสงเคราะห์ในการจัดการศพตามประเพณี 2,000 บาท